4 พ.ย. 2566 – วัดป่าแดง หมู่ที่ 6 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จัดทอดกฐินสามัคคี เพื่อสร้างกุฏิสงฆ์ และงานสาธารณะประโยชน์ภายในวัดป่าแดง โดยมีคุณศุภมิตร กิจจาพิพัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี ร่วมกับคุณธนกิจ พานิชชีวะ ผู้จัดการใหญ่โครงการไอคอน ปาร์ค และไอคอนไอทีเชียงใหม่ โดยบริษัทอัครพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นประธานอุปถัมภ์
วัดป่าแดง อ.เชียงดาว ถือว่าเป็นวัดร้างเก่าแก่อายุกว่า 600 ปี ที่ร่วมประวัติศาสตร์กับล้านนามาตั้งแต่ยุคพญามังรายสร้างบ้านแปลนเมือง และวัดป่าแดงถือเป็นตัวแทนนิกายพระสงฆ์ล้านนาที่จะมี 2 คณะ คือ คณะสวนดอกที่นิยมสร้าง พระอารามในสวนดอกไม้ มีวัดสวนดอกเป็นหัวคณะใหญ่ละคณะปายป่า มีวัดป่าแดงเชิงดอยสุเทพเป็นหัวหน้าคณะใหญ่ ยาวมาถึงยุคพระพญาแก้ว ที่ท่านทรงนำนิกายปายป่า ผ่านการสร้างวัดป่าแดง ตามหัวเมืองโบราณของล้านนาและหนึ่งในหัวเมืองโบราณหลายแห่ง ก็คือ ‘เวียงเชียงดาวปัจจุบัน’
จุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในปี พ.ศ. 2550 มีการสร้างพระเจดีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสร้างศาลาอเนกประสงค์ ที่เราเห็นในปัจจุบัน ในปัจจุบันวัดป่าแดงมีพื้นที่ 10 ไร่ มีหลักฐานปรากฏทั้งซากอิฐ และรายล้อมด้วยโบราณสถานและวัดเก่าแก่ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจโดยรอบอีกหลายแห่ง มีการตั้งข้อสันนิฐานว่า วัดป่าแดง อ.เชียงดาว อาจร่วมสมัยกับการตั้งเมืองเชียงใหม่และเมืองเชียงดาวที่เก่าแก่ย้อนไป 600 ปีก่อน
พระเจดีย์ที่สร้างครอบสถูปเจดีย์ สำรวจพบมาจากอาณาจักรล้านนา ในรูปแบบองค์พระเจดีย์มาจาก พระธาตุจอมกิตเชียงแสน ในทิศ 4 มุม การบูรณะมีการวางพระพุทธรูปจากศิลปะวัดต่าง ๆ ในเชียงใหม่ คือ พระพุทธรูปเชียงแสน , พระพุทธรุปพระสิงห์ (เชียงใหม่) , พระพุทธรูปยืน (หริภุญไชย ลำพูน), พระพุทธรูปยืนของรัตนโกสินทร์
วัดป่าแดงยังย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ของเวียงเชียงดาว ที่มีการสร้างผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่า “สันคืบ” คือการขุดปราการกำแพงเมือง 3 ชั้น ร่องคูเมือง 2 ชั้น ซึ่งในอดีตพญามังรายได้สร้างบ้านแปลนเมืองขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น เมืองฝาง เมืองพร้าว เวียงกุมกาม และจะนำเมืองเหล่านี้เป็นบำเหน็จแก่พระราชบุตร ซึ่งปกตินั้นการตั้งชื่อเมืองจะใช้ชื่อทั่วไป และไม่ได้ใช้ชื่อว่า ‘เชียง’ อันเป็นการสะท้อนถึงความสำคัญของอาณาบริเวณของเวียงเชียงดาวในความสำคัญของเมืองในประวัติศาสตร์ล้านนา ที่เวียงเชียงดาวได้รับการเรียกเหมือนเวียงเชียงใหม่
ซึ่งวัดป่าแดงห่างจากเมืองเก่าเวียงเชียงดาวไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร ซึ่งจากซากโบราณที่มีอยู่ สันนิฐานว่าคนสมัยนั้นร่วมกันสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา เช่น ร่องรอยการขุดอุโมงค์ด้วยแรงมนุษย์ การนำก้อนหินมาวางรวมเพื่อสร้างพระเจดีย์ทราย ซี่งตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า ราวปี พ.ศ.1931 ‘พระมหาญาณคัมภีร์’ ได้ประกาศศาสนาฝ่ายป่าแดง ในล้านนา และได้สร้าง “วัดสีหฬรัตตารามปักขะป่าแดง” ที่มีสังกัดนิกายป่ายป่า(วัดป่าแดง)กว่า 339 วัดทั่วล้านนา ซึ่งวัดป่าแดง อ.เชียงดาว สันนิฐานว่าเป็นหนึ่งสัปปายะของนิกายพุทธล้านนาสมัยโบราณที่สะท้อนถึงความเจริญงอกงามของวัฒนธรรมล้านนาในอดีตที่หลงเหลือเป็นความทรงจำที่ปรากฏให้เรายังคงเห็นได้ในปัจจุบัน
ซึ่งในวันที่ 4 พ.ย. 2566 ศรัทธาศาสนิกชนร่วมกันทอดกฐินเพื่อพลิกฟื้นวัดแห่งนี้ขึ้น และเตรียมเปิดเป็นหมุดหมายให้นักท่องเที่ยวมาค้นหาความทรงจำของล้านนาที่หายไป ในวัดป่าแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ แห่งนี้
โดยมีพระสงฆ์จากวัดในเชียงใหม่ร่วมเป็นองค์คณะอาราธนาเจริญชัยมงคลคาถา ได้แก่
1 พระครูบุรีตารกานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดอินทาราม ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่
2 พระภาวนาธรรมาภิรัช เจ้าอาวาสวัดร่ำเปิง เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่
3 พระครูธีรสุตพจน์,ดร. เจ้าอาวาสวัดผาลาด เจ้าคณะตำบลสุเทพเขต 2
4 พระครูบัณฑิตธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระนอนขอนตาล รองเจ้าคณะอำเภอแม่ริม
5 พระมหาเตชินเตชะโชติวโร วัดป่าเเดง
6 พระมหาธรรมวัฒน์ฐิตสีโล วัดป่าแดง
7 พระครูสุตศิริชัยวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดสะอาดไชยศรี เจ้าคณะตำบลเมืองงาย
8 พระครูปลัดรัฏฐกรณ์ สันตจิตโตน เจ้าอาวาสวัดแม่อิฐรักษาการ เจ้าคณะตำบลเชียงดาวเขต 1
9 พระมหาถวิล ปภสฺรจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดป่าแดง
10 พระครูปลัดคุณวัฒน์, ดร. เจ้าอาวาสวัดสันปูเลยสะหลีแก้ว เลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่
โดยศรัทธากฐินสามัคคีจากแรงศรัทธาของศาสนิกชนในครั้งนี้ร่วมสมทบบุญกว่า 643,610 บาท จึงขออนุโมทนาบุญแก่เจ้าภาพและผู้ร่วมศรัทธา ที่ได้บำเพ็ญแล้วในวันนี้ แด่มารดา บิดา และผู้มีพระคุณ ทั้งในปัจจุบันชาติ และในอดีตอนันตชาติ แก่ญาติและมิตรสหายผู้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนเทพยดา และอมนุษย์ทั้งหลาย ขอจงมีจิตโสมนัสยินดี อนุโมทนาในส่วนกุศลโดยทั่วกันเทอญ
#วัดภาคเหนือ #วัดป่า #วัดป่าเเดง #วัดเชียงใหม่ #ท่องเที่ยว #เที่ยววัดเชียงใหม่ #เที่ยวเชียงใหม่ #เชียงดาว #ทอดกฐิน #เที่ยวเหนือ #ประวัติศาสตร์ #มรดกทางล้านนา #chiangmai #chiangmaiguide #สถานที่ท่องเที่ยว #อารยธรรมล้านนา
ขอบคุณที่มาข้อมูล : เชียงใหม่นิวส์